บทความจาก น.ส.แก้วตา เลิศปัญญางาม BSc Biological Science, Mahidol University International College & Medical Student, Faculty of Medicine Ramathibodi Hospital
BMAT คืออะไร
BMAT ย่อมาจาก Biomedical Admission Test เป็นหนึ่งในข้อสอบชีวการแพทย์ที่ University of Cambridge ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทดสอบความรู้ ความสามารถของผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อสาขาวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์หรือสาขาแพทยศาสตร์ ในระดับมหาวิทยาลัย ในสหราชอาณาจักร BMAT เป็นบททดสอบทางความรู้ที่เป็นที่ยอมรับในมหาวิทยาลัยชั้นนำของอังกฤษ เช่น Imperial College of London หรือ University of Oxford โดยมหาวิทยาลัยเหล่านี้จะใช้คะแนน BMAT เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกน้องๆที่ศึกษาต่อ ประกอบกับผลการเรียนต่าง ๆ เช่น ผลการศึกษาจากโรงเรียนและคะแนน A-level และในบัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้คะแนนสอบ BMATเป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกน้อง ๆ เข้ารับการศึกษาด้วยเช่นกัน
ใครควรที่จะสอบ BMAT
น้อง ๆ ที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ หรือแพทยศาสตร์ในสหราชอาณาจักรควรสอบ BMAT และน้อง ๆ ที่สนใจสมัครรับตรงฯ ในคณะแพทยศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควรสอบด้วยเช่นกัน
ในการสอบหนึ่งครั้ง น้องๆสามารถส่งผลคะแนนเหล่านี้ยื่นสู่ทุกมหาวิทยาลัยที่น้องสนใจได้ในคราวเดียวกันโดยไม่ต้องไปสอบซ้ำ แต่ข้อควรระวังคือสำหรับน้อง ๆ ที่จะยื่นที่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรคะแนน BMAT จะมีอายุเพียง 1 ปีการศึกษาเท่านั้น แต่สำหรับที่ไทยสามารถเก็บไว้ได้ 2 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าใครที่เคยสอบไปแล้วแต่เกิน 1 ปี ในกรณีที่ยื่นมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร หรือ 2 ปี ในกรณียื่นในมหาวิทยาลัยในไทย ควรลงทะเบียนสอบใหม่ด้วยเช่นกัน
อีกหนึ่งคำแนะนำที่อยากให้คือ น้อง ๆ ควรศึกษาความต้องการของแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยดี ๆ ก่อนสมัครสอบต่าง ๆ นะคะ
ข้อสอบประกอบไปด้วยอะไรบ้างและทดสอบทักษะอะไรของเราบ้าง
ข้อสอบ BMAT ประกอบไปด้วย 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 Aptitude and Skills ทดสอบทักษะที่หลายหลาย เช่น ทักษะในการแก้ไขปัญหา (Problem Solving) ทักษะความเข้าใจบทความ (Understanding Arguments) และการวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล (Data Analysis and Inference)
ในส่วนนี้จะเป็นข้อสอบปรนัย รวม 35 คำถาม ภายในเวลา 1 ชั้วโมง มีคำตอบให้เลือก ซึ่งในแต่ละข้อช้อยส์จะไม่เท่ากัน เราต้องเลือกข้อที่ถูกต้องซึ่งจะมีเพียงข้อเดียว ส่วนแรกจะมีคำถามที่หลากหลาย สัดส่วนของคำถามจะแตกต่างไปในแต่ละปี แต่ทุก ๆ ปีจะมีคำถามที่ทดสอบทักษะข้างต้นทั้งหมด รูปแบบข้อสอบจะมีบทความหรือภาพต่าง ๆ มาให้น้อง ๆ อ่านหรือดูและตอบคำถาม
ส่วนที่ 2 Scientific Knowledge and Applications ทดสอบระดับความรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ และทดสอบการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ (Ability to apply scientific knowledge)
สำหรับส่วนที่ 2 มีข้อสอบปรนัยทั้งหมด 27 คำถาม ระยะเวลาที่กำหนดให้คือ 30 นาที ความรู้ทางวิทยาศาตร์ที่น้อง ๆ ควรมีเพื่อใช้ในการสอบนั้นเป็นเพียงวิทยาศาสตร์เบื้องต้นระดับ IGCSE แต่สิ่งที่ส่วนนี้ทดสอบคือความสามารถในการใช้ทฤษฎีและบทเรียนต่าง ๆ เพื่อมาปรับใช้กับคำถามที่มาในหลายรูปแบบ สัดส่วนของคำถามจะแบ่งถามในวิชาชีวะ ฟิสิกส์ เคมี และคณิตในปริมาณที่เท่าๆกัน วิชาละ 4-6 คำถาม
ส่วนที่ 3 Writing Task ทดสอบทักษะการเขียนภาษาอังกฤษ ทดสอบการเลือกใช้ข้อมูล การเรียบเรียงบทความให้เข้าใจง่ายและกระชับเพื่อการสื่อสาร
ส่วนสุดท้ายนี้ เป็นข้อสอบอัตนัย ให้เขียนบทความภาษาอังกฤษ ความยาวประมาณ 300-400 คำ ภายใน 30 นาที มีคำถามมาให้ 3-4 คำถาม ให้น้อง ๆ เลือกตอบเพียง 1 คำถามภายในเวลาที่กำหนด และส่วนใหญ่จะเป็นคำถามเชิงแสดงความคิดเห็นว่าเห็นด้วยหรือไม่กับประโยคที่ให้มา พร้อมอธิบายว่าเพราะเหตุใดเราจึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
ในส่วนนี้การทดสอบจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ หนึ่ง ความสามารถทางภาษา เช่น การใช้ไวยกร การใช้คำศัพท์ การใช้เครื่องหมาย และการเรียงประโยค สอง เนื้อหาของบทความที่เขียน เช่น คำอธิบายที่น้อง ๆ เลือกใช้มีความเหมาะสมหรือไม่ สิ่งที่น้อง ๆ เขียนฟังดูแล้วสมเหตุสมผลหรือไม่ และข้อมูลที่ใช้ในการสนับสนุนหรือแย้งคำถามดูน่าเชื่อถือหรือไม่
เตรียมตัวสำหรับ BMAT อย่างไรดี
ในทุก ๆ ปี การสอบ BMAT จะจัดขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในศูนย์สอบที่มีอยู่ทั่วโลกของ BMAT น้อง ๆ จะต้องลงทะเบียนสอบกับ British Council ในช่วงเดือนกันยายน เพื่อความรวดเร็วในการสมัคร พี่แนะนำให้น้อง ๆ กรอกใบสมัครให้เรียบร้อยไปล่วงหน้า และทำการชำระเงินค่าสอบด้วยบัตรเครดิต ที่ British Council สาขาสยาม รายละเอียดการสมัครสอบสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ของ British Council
การเตรียมความพร้อมควรเริ่มตั้งแต่ 2-3 เดือนก่อนสอบ ทั้งนี้ขั้นอยู่กับทักษะพื้นฐานของน้อง ๆ เพราะ BMAT ทดสอบทักษะในหลาย ๆ ด้าน ฉะนั้นการฝึกทักษาะต่าง ๆ ให้เก่งขึ้นอาจต้องใช้เวลา พี่จึงแนะนำให้เริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ
ภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะข้อสอบทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ น้อง ๆ ต้องฝึกการใช้ภาษาอังกฤษให้ชำนาญทั้งอังกฤษแบบทั่วไปที่ใช้ในชีวิตประจำวันและคำศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ในภาษาอังกฤษ ความเข้าใจเวลาอ่านบทความภาษาอังกฤษจะถูกทดสอบในส่วนแรกที่จะมีทั้งบทความสั้นและยาวมาให้อ่าน น้อง ๆ จะต้องเข้าใจบทความ คิดตามและวิเคราะห์ข้อมูลที่ให้มาให้ได้เพื่อตอบคำถาม ฉะนั้นการอ่านภาษาอังกฤษเยอะ ๆ จะช่วยได้มาก ทั้งนี้น้อง ๆ จะต้องเขียนบทความภาษาอังกฤษในส่วนที่ 3 ด้วย ฉะนั้นการฝึกเขียนก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน
เวลา คือสิ่งที่สำคัญสำหรับ BMAT ที่ต้องควรระวังคือเรื่องเวลา เพราะน้อง ๆ มี่เวลาจำกัดมาก ๆ ในการทำข้อสอบ มีเวลาเพียง 1-2 นาทีในการตอบคำถามในส่วนที่ 1 ดังนั้นน้อง ๆ จะต้องทำความเข้าใจกับคำถามและฝึกฝนข้อสอบอย่างบ่อย ๆ การเรียนรู้เทคนิคในการทำสอบเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ได้ผล เพราะทักษะเหล่านี้ล้วนมีเคล็ดลับเพื่อพิชิต และน้อง ๆ จะตอบคำถามได้อย่างแม่นยำ รวดเร็วและถูกต้อง
สำหรับส่วนที่ 2 น้องที่เวลาที่จำกัดเช่นกัน การจำหลักการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ให้แม่นยำในเบื้องต้น จะช่วยให้น้อง ๆ ทำข้อสอบได้เร็วขึ้นและถูกต้องมากยิ่งขึ้น ควรฝึกคณิตคิดไว้ให้เคยชินเพราะน้อง ๆ ในการสอบ BMAT เขาจะให้อนุญาติให้นำเตรื่องคิดเลขไปใช้ในห้องสอบ
ส่วนที่ 3 น้องมีโอกาสได้เลือกตอบคำถามที่น้องมั่นใจมากที่สุด เพราะฉะนั้นควรใช้เวลาในการเลือกคำถามให้ดี เพราะเวลามีไม่มากพอให้น้องเปลี่ยนคำถาม ต่อมาควรรวบรวมข้อมูลเพื่อจะสนับสนุนความคิดเห็นของเรา และวางแผนว่าเราจะจัดวางข้อมูลต่าง ๆ ไว้ตรงไหนของบทความบทความของเราเป็นเช่นไร เช่น ย่อหน้าแรกด้วยคำนำ ต่อมาเป็นเหตุผมที่สนับสนุนต่างๆ การวางแผนก่อนลงมือเขียนบทความจะช่วยให้บทความออกมาดีและนำมาสู่คะแนนที่ดี
น้อง ๆ ควรฝึกแบบฝึกหัดและข้อสอบเยอะ ๆ ถ้าเกิดทำข้อไหนผิด ให้กลับไปดูว่าผิดเพราะอะไรและผิดตรงไหน และอย่าลืมจับเวลาตัวเองทุกครั้งด้วยนะคะ เพื่อที่จะได้พัฒนาตัวเองและหวังว่าน้อง ๆ จะได้ข้อมูลดี ๆ จากพี่และสุดท้ายนี้ขอให้น้อง ๆ ทุกคนโชคดีนะคะ
**ขอขอบคุณข้อมูลดีๆที่นำมาประกอบบทความจากเว็บไซด์ของ British Council และ Cambridge Assessment
#ติวBMAT #ติวสอบBMAT #เรียนBMAT #การสอบBMAT #รีวิวสอบBMAT
Comments